สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการอัปโหลด ดูเพิ่ม วิธีการอัปโหลดภาพ หรือไปที่หน้าอัปโหลดโดยตรง
เนื้อหา
สิ่งที่ควรรู้ก่อนการใช้งานภาพและสื่อต่างๆ[]
- วิกิฟินมิใช่ที่รับฝากรูปภาพอันมั่วซั่วหรือสื่อสำหรับกิจกรรมการประชาสัมพันธ์หรือโฆษณา นอกเหนือจากบทความหรือโครงการในเครือ ภาพที่ไม่ได้ใช้จะถูกลบเป็นระยะ หรือถูกแจ้งลบโดยผู้ใช้ท่านอื่น
- ภาพประกอบบทความ จะเป็นภาพที่ช่วยอธิบายบทความให้เข้าใจได้ง่ายและสมบูรณ์ยิ่งขึ้น และควรใส่คำอธิบายใต้ภาพ เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจว่าภาพสื่อถึงอะไร
- ภาพที่คุณต้องการอาจมีอยู่แล้วในคลังภาพที่ใช้ร่วมกัน หรือ วิกิมีเดียคอมมอนส์ ซึ่งสามารถเรียกใช้ได้ทันทีโดยไม่จำเป็นต้องอัปโหลดใหม่
- โปรดคำนึงถึงเรื่องลิขสิทธิ์สำหรับวิกิฟินเป็นอย่างแรกก่อนอัปโหลดไฟล์ใดๆ บนวิกิฟิน (ดูหัวข้อถัดไปด้านล่าง)
- อธิบายแหล่งที่มาของภาพที่ชัดเจนเสมอ เพื่อการตรวจสอบหรือการค้นหาเพิ่มเติม
- ถ้าภาพนั้นเป็นภาพที่คุณสร้างสรรค์ด้วยตัวเอง กรุณาอย่าใส่ชื่อของคุณลงบนภาพ (เรียกว่า ลายน้ำ) แต่สามารถใส่ลงในส่วนของคำบรรยายภาพแทน
- ชื่อภาพควรจะตั้งชื่อให้มีความหมายเฉพาะตัว ไม่สั้นหรือยาวเกินไป ไม่ควรตั้งชื่อภาพเป็นตัวเลขหรือรหัสที่ไม่สื่อถึงเช่น "001.jpg" ถ้าในระบบมีภาพภายใต้ชื่อเดียวกันอยู่แล้ว กรุณาเปลี่ยนเป็นชื่ออื่น ไม่ควรอัปโหลดทับไฟล์เดิม เว้นแต่คุณต้องการแก้ไขภาพเก่าโดยการนำภาพใหม่ไปแทนที่
- รูปแบบที่แนะนำ ควรใช้ภาพ JPEG สำหรับภาพถ่าย และควรใช้ภาพ SVG หรือ PNG สำหรับภาพลายเส้น เช่น โลโก้ แผนที่ หรือแผนผัง
การอัปโหลดภาพ[]
ก่อนที่จะอัปโหลด คุณควรจะมั่นใจว่าภาพที่คุณจะอัปโหลด เข้าข่ายหนึ่งในกรณีต่อไปนี้
- คุณเป็นเจ้าของสิทธิของภาพนั้น (โดยทั่วไปหมายถึงว่าคุณเป็นผู้สร้างภาพนั้น)
- คุณสามารถพิสูจน์ได้ว่าเจ้าของลิขสิทธิ์ได้ปล่อยภาพนั้นภายใต้สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์
- คุณสามารถพิสูจน์ได้ว่าภาพนั้นเป็นสาธารณสมบัติ
- คุณสามารถระบุเหตุผลของการใช้งานโดยชอบธรรม
อย่าลืมเลือกสถานะลิขสิทธิ์ที่ถูกต้อง และระบุที่มาของภาพอย่างชัดเจน ทุกภาพจำเป็นต้องมีคำอธิบายภาพและป้ายแสดงสถานะลิขสิทธิ์ของภาพ โดยคำอธิบายภาพควรจะระบุข้อมูลที่จำเป็นในการยืนยันสถานะลิขสิทธิ์ของภาพนั้นๆ
สถานะลิขสิทธิ์[]
วิกิฟินสนับสนุนการอัปโหลดภาพที่ผู้ใช้สร้างขึ้นเอง แต่ภาพนั้นต้องประกาศให้ใช้สัญญาอนุญาตเสรี เช่น ครีเอทีฟคอมมอนส์ เป็นต้น ที่ยอมรับได้ หรือปล่อยเป็นสาธารณสมบัติ ภาพเหล่านั้นได้แก่ ภาพถ่ายที่คุณถ่ายขึ้นเอง ภาพวาดหรือแผนภูมิที่คุณสร้างขึ้น และงานชนิดอื่นๆ ที่คุณสร้างขึ้นเอง อย่างไรก็ตาม การคัดลอกภาพหรือแผนภูมิที่มีลิขสิทธิ์อาจไม่ได้มีลิขสิทธิ์ใหม่ โดยงานที่มีลิขสิทธิ์จะต้องเกิดจาก "การสร้างสรรค์" และไม่ได้ขึ้นอยู่กับแรงงานที่สร้างงานนั้นๆ ภาพถ่ายของวัตถุสามมิติมักจะมีลิขสิทธิ์ใหม่เป็นของตัวเอง
สำหรับภาพถ่าย อย่าลืมว่าผู้ที่ถือลิขสิทธิ์ภาพคือ ผู้ถ่ายภาพ หรือ เจ้าของภาพต้นฉบับ ซึ่งการสแกน ดัดแปลง ตกแต่ง หรือพยายามแก้ไขภาพไม่ได้หมายความว่าคุณเป็นผู้สร้างภาพ หรืองานดังกล่าวแต่อย่างใด
วิกิฟินไม่แนะนำให้ใช้ภาพที่มีตัวคุณ เพื่อนฝูง หรือครอบครัวของคุณปรากฏอยู่ภายในอย่างเด่นชัดเจนจนดึงความสนใจจากวัตถุประสงค์หลัก ภายในเนมสเปซหลัก แต่สามารถใช้ในหน้าผู้ใช้ของคุณได้
ภาพที่ผู้ใช้สร้างขึ้นต้องไม่มีการใส่ลายน้ำ ดัดแปลง หรือใส่เครดิตลงในภาพ ซึ่งส่งผลให้ขัดต่อการใช้ภาพอย่างเสรี ยกเว้นว่าภาพนั้นตั้งใจที่จะนำเสนอการใช้ลายน้ำหรือการดัดแปลงนั้นซึ่งเกี่ยวข้องกับเนื้อหาในบทความ การใส่เครดิตของภาพทั้งหมดควรอยู่ในหน้าคำอธิบายภาพ
การใช้งานโดยชอบธรรม[]
การใช้งานภาพที่มีลิขสิทธิ์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ถือสิทธิ อาจเข้าข่ายการใช้งานโดยชอบธรรมในสหรัฐอเมริกา การอ้างสิทธิ์การใช้งานโดยชอบธรรมที่ไม่เหมาะสมถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์และขัดต่อกฎหมาย
วิกิฟินอนุญาตให้ใช้ภาพลิขสิทธิ์ที่มีความละเอียดต่ำ หากการใช้ภาพนั้นไม่ส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ทางการค้า มีความสำคัญต่อบทความ และไม่มีภาพเสรีอื่นที่ใช้แทนได้
การระบุแหล่งที่มา[]
ภาพทุกภาพในวิกิฟินจะต้องมีการระบุแหล่งที่มาของภาพ เพื่อสำหรับอ้างอิงได้ว่ามีที่มาที่ชัดเจนและสามารถพิสูจน์ยืนยันได้ โดย
- ภาพที่สร้างขึ้นเอง ถ้าเป็นภาพที่ผู้อัปโหลดเป็นผู้สร้างสรรค์ขึ้นเอง เช่น ภาพถ่าย หรือ ภาพวาด ให้ระบุแหล่งที่มาว่า "ภาพถ่ายขึ้นเอง หรือ ภาพวาดขึ้นเอง"
- ภาพหน้าจอ ถ้าภาพเกิดจากการจับภาพหน้าจอจากคอมพิวเตอร์โดยผู้อัปโหลดเอง ให้ระบุแหล่งที่มาว่า "จับภาพขึ้นเอง"
- ภาพสแกน ถ้าเป็นภาพที่สแกนมาจากหนังสือหรือสื่ออื่น ๆ ให้ระบุแหล่งที่มาว่า "ภาพสแกนขึ้นเองจาก (ระบุชื่อหนังสือให้ชัดเจน)"
- ภาพจากเว็บไซต์ ถ้าเป็นภาพที่เซฟมาจากเว็บไซต์อื่นที่เจ้าของภาพอนุญาตให้นำมาใช้ได้ในวิกิฟิน หรือเป็นภาพเสรี ให้ระบุแหล่งที่มาว่า "ภาพจากเว็บไซต์ (ระบุชื่อและลิงก์ของเว็บไซต์)" ไม่ควรใส่ว่าภาพนั้นมาจากเสิร์ชเอนจิน เช่น กูเกิล หรือ บิง เนื่องจากภาพเหล่านั้นไม่ใช่กรรมสิทธิ์ของเสิร์ชเอนจิน และเป็นเพียงข้อมูลชั่วคราว ควรใส่ที่มาของภาพหรือหน้าภาพที่เป็น URL เต็มของเว็บนั้น ๆ (ปกติแล้วควรจะหลีกเลี่ยงการใช้ภาพจากเว็บไซต์อื่นเนื่องจากลิขสิทธิ์ไม่ชัดเจน)
แหล่งที่มาเป็นคนละประเด็นกับสถานะลิขสิทธิ์ หมายความว่า แม้ภาพต่าง ๆ มาจากแหล่งข้อมูลเดียวกัน แต่อาจมีสถานะลิขสิทธิ์ต่างกันก็ได้ ดังนั้นโปรดให้ข้อมูลที่ชัดเจนทั้งแหล่งที่มาและสถานะลิขสิทธิ์ของภาพ ภาพที่ไม่ระบุที่มาอาจถูกพิจารณาให้ลบ
รูปแบบไฟล์[]
- ภาพลายเส้น สัญลักษณ์ แผนที่ภูมิศาสตร์การเมือง ธง และภาพอื่นๆที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน ควรอัปโหลดในรูปแบบ SVG โดยเป็นรูปเวกเตอร์ ภาพที่มีลักษณะเป็นพื้นที่สีแบบง่ายๆ ขนาดใหญ่ต่อเนื่องกัน ควรจะใช้รูปแบบ PNG
- ภาพลายเส้น สัญลักษณ์ แผนที่ภูมิศาสตร์การเมือง ธง และภาพอื่นๆที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน ที่ใช้เป็นการใช้งานโดยชอบธรรม ควรใช้รูปแบบ PNG
- ภาพถ่ายและภาพที่มีความลึกของสีแบบภาพถ่าย ควรใช้รูปแบบ JPEG
- ภาพเคลื่อนไหวที่ใช้ในบรรทัด ควรใช้รูปแบบ GIF
- เสียงเพลงและวีดิทัศน์ ควรใช้รูปแบบ Ogg (หากมาจากยูทูบ ให้ใช้การนำเข้าแทน)
- ภาพหน้าจอ ควรใช้รูปแบบ PNG หรือ JPEG ขึ้นอยู่กับลักษณะของภาพนั้นๆ
การตั้งชื่อไฟล์[]
การตั้งชื่อไฟล์นั้นอาจตั้งด้วยอักษรไทย หรืออักษรละติน (อักษรภาษาอังกฤษ) แต่การใช้อักษรไทยหรืออักขระพิเศษต่างๆอาจส่งผลต่อผู้ใช้บางคนในการดาวน์โหลดภาพ อีกทั้งยังอาจทำให้เกิดความผิดพลาดในการใช้งานได้ง่าย
การตั้งชื่อไฟล์ควรมีความหมายเฉพาะตัวที่บรรยายภาพนั้นในระดับหนึ่ง ไม่ควรตั้งชื่อยาวเกินไป ไม่ควรตั้งชื่อไฟล์ที่ไม่สื่อความหมายของภาพ อาทิ ลำดับเลขของภาพถ่ายจากกล้องดิจิทัล สัญลักษณ์/ตัวเลข/ตัวอักษรที่ไม่มีความหมายใด ๆ รวมถึงชื่อที่สะกดผิด (กรณีหลังสามารถแจ้งผู้ดูแลให้เปลี่ยนเป็นชื่อที่เหมาะสมได้) ข้อควรระวังคือ อักษรละตินตัวเล็กและใหญ่นั้นมีผลทำให้ชื่อต่างกัน เช่น Thailand.PNG นั้นต่างกับ Thailand.png แนะนำว่าคุณควรตั้งส่วนของชนิดไฟล์ด้วยอักษรตัวเล็กทั้งหมด นอกจากนี้เครื่องหมายอันเดอร์สกอร์ (_) และเว้นวรรค ( ) ที่ปรากฏในชื่อไฟล์มีความหมายเหมือนกัน เมื่อนำภาพไปใส่บทความสามารถใช้แทนกันได้
คุณสามารถตั้งชื่อไฟล์เหมือนกับภาพที่มีอยู่แล้วได้ หากคุณต้องการใช้ภาพที่อัปโหลดใหม่แทนภาพเดิม เช่น ภาพเดิมที่มีคุณภาพดีขึ้น หรือภาพที่มีแสดงสิ่งที่ต้องการสื่อชัดเจนขึ้น การอัปโหลดทับภาพเดิมจะทำให้ผู้ใช้คนอื่นสามารถเปรียบเทียบสองภาพได้ง่าย ไม่ต้องเปลี่ยนภาพในบทความ และไม่ต้องลบภาพเก่าทิ้ง อย่างไรก็ตาม ภาพที่มีรูปแบบไฟล์ต่างกันไม่สามารถทับกันได้
ขนาด[]
ขนาดของไฟล์[]
ไฟล์ที่อัปโหลดจะต้องมีขนาดไม่เกิน 20 เมกะไบต์ ซอฟต์แวร์มีเดียวิกิที่วิกิฟินใช้สามารถปรับขนาดภาพโดยอัตโนมัติได้ ดังนั้นจึงไม่จำเป็นที่จะต้องปรับขนาดของภาพด้วยตัวคุณเอง การอัปโหลดภาพที่มีความละเอียดสูงทำให้สามารถนำสื่อของวิกิฟินไปใช้ได้กว้างขึ้น เช่น นำไปใช้ในการตีพิมพ์
สำหรับงานลายเส้น โดยเฉพาะที่คุณวาดเอง อาจจะดีกว่าถ้าคุณปรับขนาดของภาพด้วยตัวคุณเองและใช้ในบทความ เนื่องจากว่าการปรับขนาดอัตโนมัติอาจสร้างภาพที่มีขนาด (จำนวนไบต์) สูงกว่าหรือมีคุณภาพแย่ลง กรณีนี้ไฟล์ภาพ SVG อาจเป็นประโยชน์
ขนาดภาพที่แสดง[]
หากคุณต้องการแสดงภาพในบทความข้างๆข้อความ คุณควรจะใช้ thumbnail (ดู วิกิฟิน:วิธีการใส่ภาพ) ซึ่งจะทำให้ภาพนั้นมีขนาดตามการตั้งค่าของผู้ใช้ (ค่ามาตรฐานเท่ากับ 180 พิกเซล) การใส่ขนาดภาพที่ใหญ่กว่า ไม่ควรกำหนดให้กว้างเกิน 300 พิกเซล เพื่อให้สามารถแสดงในหน้าจอขนาด 800x600 ได้อย่างไม่เป็นปัญหา
หลักเกณฑ์การพิจารณาภาพในวิกิฟิน[]
ดูเพิ่ม[]
- วิกิฟิน:การอัปโหลดภาพ
- วิกิฟิน:วิธีการใส่ภาพ
- ภาพที่ไม่ได้ใช้
นโยบายการใช้ภาพ เป็นหน้านโยบาย หรือวิธีใช้ของวิกิฟินที่ยังไม่สมบูรณ์ หน้าวิธีใช้ และหน้าโครงการของวิกิฟิน อาจต่างกับโครงการในเครืออื่นๆ ทั้งนี้อยู่บนพื้นฐานนโยบายเดียวกัน |